"มาร์ค" ถามเขมรจะเอาไง "บัวแก้ว" จับได้ก่อนขายชาติ ลงดาบสองทุบหม้อข้าว 2 วายร้าย "แม้ว-ฮุน เซน" ฉีกเอ็มโอยูบ่อน้ำมัน-ก๊าซ ที่เซ็นในยุคระบอบทักษิณเรืองอำนาจ ชี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนร่วมกัน หลังนายกฯ เขมรมีพิรุธเชียร์คนทรยศชาติจนออกนอกหน้า คิวต่อไปงบช่วยเหลือสร้างถนน 1.4 พันล้านอาจต้องระงับ "ชวน" กรีดเป็นการตอบแทนบุญคุณที่ไทยรักไทยเคยช่วยชนะเลือกตั้ง "หน้าเหลี่ยม" กบดานเงียบ เครียดทวิตไม่ออก กลุ่ม 40 ส.ว.ยุส่งปิดชายแดนเลิกคบค้า โพลล์ระบุคะแนนนิยม "อภิสิทธิ์" พุ่ง 3 เท่าตัว
ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาถึงขั้นเรียกทูตกลับประเทศ หลังสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยืนกรานตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักโทษหนีคุกในคดีคอรัปชั่น เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ตกเป็นที่สนใจในเวทีการเมืองโลก มีการจับตาว่าผู้นำไทยกับกัมพูชาจะใช้เวทีประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นซึ่งกำลังมีขึ้นที่กรุงโตเกียวหารือเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่
เมื่อวันศุกร์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่กรุงโตเกียวว่า การปรับลดระดับความสัมพันธ์กับกัมพูชาเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของไทย และปกป้องกระบวนการยุติธรรมของไทย
"ผมคิดว่ารัฐบาลและคนไทยได้แสดงออกบนความอดทนอดกลั้นพอสมควร เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับทวิภาคี ทั้งสองประเทศต้องแก้ปัญหากัน แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไทย ดังนั้นจึงอยู่ที่กัมพูชาจะต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องให้เวลากัมพูชาระยะหนึ่ง"
นายกฯ บอกว่า การปรับลดระดับความสัมพันธ์มีกลไกอยู่ ขณะนี้ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมการไว้แล้ว รัฐบาลจะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าเรื่องใดควรเดินช้าหรือเดินเร็ว รัฐบาลไทยยังคงยืนยันว่าจะดำเนินการโดยไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเข้าใจดี จะไม่ให้กระทบกับผลประโยชน์ของคนไทย
ต่อข้อถามว่าหากกัมพูชาไม่ตอบสนอง จะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้แสดงออกในระดับหนึ่งแล้ว และจะพิจารณาตามสถานการณ์ต่อไป
มีความชัดเจนในการลดระดับความสัมพันธ์อีกขั้น โดยนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งร่วมคณะของนายกฯ ไปญี่ปุ่นเผยว่า ขณะนี้ได้ข้อยุติ 1 เรื่อง คือ บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนบนอ่าวไทย ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อแจ้งบอกเลิกกับรัฐบาลกัมพูชา เนื่องจาก MOU ฉบับดังกล่าวจัดทำสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มาวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา
"การที่รัฐบาลกัมพูชาตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาภายใต้ MOU ดังกล่าว เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงตั้งแต่แรกเริ่มในการผลักดันให้รัฐบาลจัดทำ MOU ฉบับนี้ และ พ.ต.ท.ทักษิณคงได้รับรู้ท่าทีต่างๆ ในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับกัมพูชาบนพื้นฐาน MOU ฉบับนี้"
นายกษิตกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศยังเห็นว่าพื้นที่ทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิทับซ้อนกัน มีพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร และมีศักยภาพทางทรัพยากรธรรมชาติสูง โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติ ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ การเจรจาเรื่องนี้จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างกว้างขวาง จึงสมควรให้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน